Pattaya One News
Home » เจ้าท่าพัทยาเผยหลังผ่านพ้นดีเดย์แจ้งปัญหาสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำ 1 กันยายน พบชาวบ้านแจ้งลงทะเบียน 1,307 ราย
ข่าวท้องถิ่น

เจ้าท่าพัทยาเผยหลังผ่านพ้นดีเดย์แจ้งปัญหาสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำ 1 กันยายน พบชาวบ้านแจ้งลงทะเบียน 1,307 ราย

เจ้าท่าพัทยาเผยหลังผ่านพ้นดีเดย์แจ้งปัญหาสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำ 1 กันยายน พบชาวบ้านแจ้งลงทะเบียน 1,307 ราย

ระบุสุดท้ายก็ต้องดูเอกสารประกอบ พร้อมจะพิจารณาอนุญาตจากมาตรการ 4 อรหันต์หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็คงต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ขณะที่เมืองพัทยาสัมทับสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำคลองสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะที่บางส่วนมีการจัดหาประโยชน์จากที่พักอาศัย ซึ่งแม้จะผ่านหลัก เกณฑ์กฎหมายเจ้าท่า

แต่ก็ยังมีกฎหมายควบคุมอาคาร ขณะที่ประกาศกระทรวงคมนาคมระบุหากรัฐมีความจำเป็นต้องใช้เจ้าท่าก็มีอำนาจในการเพิกถอนใบอนุญาตได้

วันนี้ (27 ก.ย. 60) ที่ห้องประชุมศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี นายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคพัทยา พร้อมด้วย นายวิเชียร พงษ์พานิชย์ รองนายกเมืองพัทยา และหัวหน้าส่วนราชการ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับชุมชน และผู้ประกอบการกว่า 300 ราย เพื่อชี้แจงกรณีที่มีการประกาศใช้กฎหมายใหม่ตาม พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 ที่ให้ผู้ที่ปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำมายื่นคำร้องและแสดงหลักฐานการเข้ามาอยู่อาศัยได้ตามระยะเวลาหรือเงื่อนไขของกฎหมาย ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา โดยเรื่องนี้หากมาดำเนิน การตามกำหนดก็จะมีการ “นิรโทษกรรม” ตามมาตรการเยียวยาของคำสั่งคณะ คสช.ที่ 32/2560 ซึ่งจะละเว้นความผิดทั้งทางปกครองและอาญา รวมทั้งหากสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดก็จะมีการออกใบอนุญาตหรือขึ้นทะเบียนให้ต่อไป แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมามีชุมชนและผู้ประกอบการจำนวนมากยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าหากพักอาศัยอยู่ก่อนตามระยะเวลาใน 3 ช่วงที่กฎหมายกำหนดหรือก่อนปี พ.ศ.2515 ก็จะสามารถพักอาศัยต่อไปได้นั้น
นายเอกราช กล่าวว่าหลังมีการประชุมชี้แจงแก่ชุมชนและผู้ประกอบการไปก็พบว่าเมื่อสิ้นสุดวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา มีการแจ้งขอขึ้นทะเบียนสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำจำนวน 1,307 ราย โดยในส่วนนี้ผู้แจ้งจะต้องเร่งดำเนินการหาเอกสารมานำส่งเพื่อประกอบการพิจารณาภายใน 180 วัน ได้แก่ 1.สำเนาทะ เบียนบ้าน เอกสารการชำระระบบสาธารณูปโภค หรือภาษีท้องถิ่น 2.สิ่งรับรองสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีการลงนามรับรองโดยภาครัฐ และ 3.ภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งทั้งหมดจะต้องระบุปี พ.ศ.ที่ชัดเจนของการขออนุญาต หรือแสดงระยะเวลาที่ชัดเจนในการอยู่อาศัย ซึ่งจะเป็นหลักฐานสำคัญในการพิจารณา แต่หากหาหลักฐานมาไม่ครบถ้วนตามที่แจ้งไว้ ก็จะมีการพิจารณาตามหลักฐานที่มีอยู่เท่านั้นซึ่งจะใช้ระยะเวลาอีก 180 วัน
อย่างไรก็ตามแม้จะมีการมาแจ้งขอขึ้นทะเบียนไว้ตามที่กำหนด แต่การพิจารณานอกจากเรื่องของเอกสารแล้ว ยังมีข้อกำหนดตามกฎหมายเพื่อใช้ประกอบการในการขึ้นทะเบียนอนุญาตด้วย โดยเฉพาะมาตรการ 4 อรหันต์ซึ่งหากไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็คงจะต้องถือว่ามีความผิดและต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งประกอบไปด้วย 1.ต้องไม่เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ สร้างปัญหาการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ หรือสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 2.การก่อสร้างต้องอยู่ในกรอบของความจำเป็นต่อการพักอาศัย ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างที่นำมาหาประโยชน์ เช่น ห้องเช่า ห้องแถว หรือสถานประกอบการขนาดใหญ่ 3.สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายผังเมืองและกฎหมายประมง ซึ่งกรณีนี้จะมีการทำหนังสือหารือไปยังสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองอีกครั้งว่าพื้นที่แห่งใดอนุญาตได้หรือขัดต่อกฎหมาย และ 4.สิ่งปลูกสร้างต้องมีลักษณะเหมาะสม มั่นคง ปลอดภัย และแข็งแรง
นายเอกราช กล่าวต่อไปว่าขณะนี้มีผู้ขอขึ้นทะเบียนส่วนหนึ่งเข้าใจว่าการมาแจ้งไว้ก็คงสามารถอยู่อาศัยต่อได้ ซึ่งจริงๆคงต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งเรื่องของเอกสาร ระยะเวลา และมาตรการข้างต้น แต่หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็คงต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเด็ดขาด ซึ่งจะเป็นกรณีของคำสั่งรื้อถอน โดยหากพบว่ามีการฝ่าฝืนก็จะมีการเพิ่มโทษตามกฎหมายใหม่ด้วยการจำคุก 3 ปี หรือ การเปรียบ เทียบปรับซึ่งคิดอัตราโทษเป็นตารางเมตร สนนราคาที่ 1,000-20,000 บาท
ขณะที่นายวิเชียร พงษ์พานิชย์ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวว่าหลายพื้นที่ในเขตเมืองพัทยามีปัญหาสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ อย่าง วอล์คกิ้งสตรีท คลองนกยาง คลองปึกพลับ และคลองพัทยาใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เนื่องจากไม่มีระบบสุขาภิบาลที่ดี ขณะที่สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ก็คงไม่มีใบอนุญาตสิ่งปลูกสร้างจากท้องถิ่น หรือหากมีคนอนุญาตก็คงต้องผิดกฎหมาย ดังนั้นเมืองพัทยาก็คงเดินหน้าแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มคนบางส่วนที่หาประโยชน์จากที่สาธารณะ อาทิ การสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อปล่อยเช่า ซึ่งจากการสำรวจโดยเฉพาะที่คลองนกยางพบว่ามีผู้กระทำผิดกว่า 20 ราย ที่สำคัญแม้ว่าเจ้าท่าจะขึ้นทะเบียนให้หากมีการพิจารณาเห็นชอบ แต่ก็มีประกาศของกระทรวงคมนาคม ข้อ 7(3) ซึ่งหากแม้จะมีการขึ้นทะเบียนไว้ แต่หากรัฐมีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์หรือเรียกคืนพื้นที่ดังกล่าว ก็ให้อำนาจแก่เจ้าท่าในการยกเลิกการขึ้นทะเบียนได้
เรื่องเหล่านี้เป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหาเพื่อส่วนร่วม กฎหมายที่บังคับใช้ก็เพื่อลดปัญหาในอนาคตและปัญหาสะสมในอดีต แต่ภาครัฐเองโดยเฉพาะเมืองพัทยาก็พยายามหาแนวทางช่วยเหลือ โดย เฉพาะการประสานกับการเคหะแห่งชาติในการเปิดโอกาสให้ชุมชนไปเช่าซื้อที่พักได้ ที่โครงการเอื้ออาทร จอมเทียน ซึ่งจากระยะเวลาที่ทางรัฐบาลให้ไว้ในการเยียวยากว่า 1 ปีนั้น ก็คงสามารถขยับขยายและหาที่พักพิงที่เหมาะสมใหม่ได้ในที่สุด….

Get in touch with our news team by emailing us at [email protected]

Related posts

Pattaya One New Thailand, your go-to source for global and local news, alongside effective business advertising opportunities, tailored to the vibrant city of Pattaya.
Translate »