Pattaya One News
Home » “อาหารแปรรูป” วายร้ายทำลาย “ไต”
ไลฟ์สไตล์

“อาหารแปรรูป” วายร้ายทำลาย “ไต”

 75% ของการเสียชีวิตของคนไทย มาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่ง 22.05 ล้านคน ป่วยเป็นโรคที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมติดเค็ม ซึ่งคนไทยกินเค็มกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำถึง 2 เท่า นั่นคือ ราว ๆ 4,352 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่เราไม่ควรกินเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน

สูญเสียกันไปเท่าไหร่กับโรคที่เกิดจากการกินเค็ม? แน่นอนว่ามูลค่านั้นสูงทีเดียว การประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากพฤติกรรมติดเค็มสูงถึง 98,976 ล้านบาท/ปี จากค่ารักษาพยาบาลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด กับไตวายระยะสุดท้าย

10,000,000 คน คือตัวเลขของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทย ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นตัวตั้งส่งผลถึงอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะไต ที่ทำงานหนักขึ้น จนเป็น “ไตวายเรื้อรัง” และล้างไตสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เสียค่าใช้จ่ายต่อปีราว ๆ 200,000 บาท หากรวมค่ายาด้วยก็แตะค่าใช้จ่ายถึง 400,000 บาทต่อปีเลยทีเดียว

เราจึงไม่สามารถปล่อยให้ทีมแพทย์รักษาผู้ป่วยที่เกิดจากติดเค็มได้ฝ่ายเดียว ดังนั้นการป้องกันและให้ความรู้กับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาก โครงการ “ลดเค็ม ลดโรค” ของโครงการรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียมในประเทศไทย โดยการสนับสนุจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงเกิดขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงโทษของการบริโภคโซเดียม และหันกลับมาบริโภคเค็มในระยะที่ปลอดภัย


เครื่องปรุงที่มีเกลือโซเดียม

ไม่ว่าจะเป็น ‘เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส กะปิ และซอสหอยนางรม’ นับเป็นเครื่องปรุงรสที่มีเกลือโซเดียมผสมทั้งหมด และยิ่งไปกว่านั้น คือพฤติกรรมของคนไทยที่เพิ่มรสเค็มลงไปในอาหาร เช่น เติมพริกน้ำปลาลงไปในข้าว เติมน้ำปลาลงในก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น จึงไม่แปลกที่ทำให้การบริโภคเค็ม/วัน เกินมาตรฐานของ WHO ไปถึง 2 เท่าเลยทีเดียว


ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงรส

เกลือ 1 ช้อนชา = 2,000 มิลลิกรัม

น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ =  1,160-1,420 มิลลิกรัม

ซีอิ๊ว 1 ช้อนโต๊ะ =  690-1,420 มิลลิกรัม

ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ =  1,150 มิลลิกรัม

กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ =  1,430-1,490 มิลลิกรัม

ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ =  420- 490 มิลลิกรัม

นอกจากเครื่องปรุงรสแล้ว อาหารที่คนไทยนิยมกินและมีปริมาณโซเดียมสูงมาก คือ ‘อาหารแปรรูป’ มาดูกันว่า อาหารแปรรูปแต่ละชนิดมีปริมาณโซเดียมอยู่เท่าไหร่

  • ขนมปัง แผ่น 1 แผ่น = 120-140 มิลลิกรัม
  • โดนัท 1 ชิ้น = 180 มิลลิกรัม
  • ซาลาเปา 1 ชิ้น = 200 มิลลิกรัม
  • ขนมเค้ก 1 ชิ้น =  400 มิลลิกรัม
  • แหนมย่าง 1 ไม้ = 480 มิลลิกรัม
  • ลูกชิ้นหมู 15 กรัม = 320 มิลลิกรัม
  • โบโลน่าหมู 15 กรัม =  410 มิลลิกรัม
  • หมูแผ่น 30 กรัม =  862 มิลลิกรัม
  • หมูยอ 2 ช้อนโต๊ะ  =   227 มิลลิกรัม
  • ไข่เค็ม 1 ฟอง =  300-500 มิลลิกรัม
  • โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง =  1,900 มิลลิกรัม
  • น้ำจิ้มข้าวมันไก่ 1 ช้อนโต๊ะ =  214 มิลลิกรัม
  • น้ำจิ้มสุกี้ 1 ช้อนโต๊ะ = 280 มิลลิกรัม
  • ซุปก้อน 1 ก้อน = 2,600 มิลลิกรัม
  • ส้มตำปู 100 กรัม =  2,000 มิลลิกรัม
  • ต้มยำปลากระป๋อง 100 กรัม =  3,000 มิลลิกรัม
  • แกงเลียง โซเดียมเฉลี่ย =   800 มิลลิกรัม
  • บะหมี่น้ำหมูแดง = 1,500 มิลลิกรัม
  • ก๋วยจั๊บ = 1,450 มิลลิกรัม
  • ผัดไท = 1,200 มิลลิกรัม

อาหารที่เรากินเข้าไป เผลอ ๆ แค่เพียง 1 มื้อ ก็ทำให้ปริมาณโซเดียมที่เราควรบริโภคก็เกินแล้ว แต่เราสามารถบอกแม่ค้า พ่อค้าได้ว่า ใส่น้ำปลาเล็กน้อย หรือไม่ใส่เลยก็ได้ ส่วนอาหารแปรรูปนั้นถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็เลือกกินในปริมาณที่เหมาะสม เพราะการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนั้น เกิดจากพฤติกรรมการกินที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง หาก ‘ลดเค็ม’ ลงตั้งแต่วันนี้ พร้อมกับ “ลดหวาน ลดมัน” ด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้สุขภาพดี และห่างไกลจากโรคไม่ติอต่อเรื้อรังแน่นอน

สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องดูแลตัวเอง

ขอบคุณ Sanook

Get in touch with our news team by emailing us at [email protected]

Related posts

Pattaya One New Thailand, your go-to source for global and local news, alongside effective business advertising opportunities, tailored to the vibrant city of Pattaya.
Translate »