วันที่ 23 มิถุนายน 2562 ถือเป็นวันครบ 1 ปี ของเหตุการณ์ปฏิบัติการช่วยเหลือที่โด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งในวันดังกล่าวเป็นวันที่เด็กๆ ทีมฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี และโค้ชเอก ได้เดินเข้าไปพักผ่อนและสำรวจถ้ำหลวง เทือกเขานางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ก่อนที่พวกเขาจะติดค้างอยู่ภายในถ้ำ และไม่สามารถเดินย้อนกลับออกมาจากถ้ำเองได้
การช่วยเหลือที่เริ่มต้นจากทีมค้นหาภายในประเทศ กลายเป็นปฏิบัติการระดับโลกที่เจ้าหน้าที่จากนานาชาติได้เสริมกำลังเป็นทีมย่อยต่างๆ มากมาย ปรากฏการณ์ครั้งสำคัญนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอด 9 วัน ก่อนจะประสบความสำเร็จได้พบเจอพวกเขาปลอดภัยอยู่ภายในถ้ำหลวง ภาพดังกล่าวยังคงตรึงใจคนทั้งโลกมาถึงทุกวันนี้
จากปฏิบัติการช่วยเหลือที่ถ้ำหลวงในครั้งนั้น ยังทำให้สังคมไทยได้เห็นประสบการณ์ใหม่และมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นและเกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นบุคคล สิ่งของ หรือสถานที่ ล้วนเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องทำความเข้าใจ และนี่คือ 13 สิ่งที่คนไทยได้รู้จักตลอดปฏิบัติการถ้ำหลวงที่ผ่านมา
ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน ท้องที่ ต.โป่งผา เนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ มีสภาพเป็นพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาหินปูนสูงชัน ถ้ำหลวง เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ เชื่อกันว่ามีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากมีระยะทางยาวกว่า 7 กิโลเมตร และยังเป็นถ้ำที่รอคอยการสำรวจ เนื่องจากมีหลายจุดที่ยังไม่สามารถเข้าไปได้ถึง
ทีมหมูป่า อะคาเดมี
ทีมฟุตบอลทีน ทอล์ค (หมูป่า) อะคาเดมี แม่สาย เป็นการรวมตัวตั้งกลุ่มทีมฟุตบอลของเยาวชน และใช้ชื่อตามสปอนเซอร์ผู้สนับสนุน เป็นทีมให้โอกาสกับเด็กๆ ที่ชื่นชอบในกีฬาฟุตบอล เด็กส่วนมากเป็นเด็กชาติพันธุ์ เด็กบัตรหัวศูนย์และเด็กขาดโอกาส มีสมาชิกในทีม 4 รุ่น คือรุ่น 11-13 ปี รุ่นไม่เกิน 15 ปี รุ่น 17 ปี และรุ่น 19 ปี
ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร
อดีตเคยเคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการของกระทรวงมหาดไทย, ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสำรวจของกรมที่ดิน, ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลแผนที่ของกรมที่ดิน, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นบัญชีของกระทรวงการคลัง สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการให้เอกชนลงทุนในโครงการของรัฐ ก่อนจะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และในปัจจุบันท่านคือผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา
จ่าแซม นาวาตรี สมาน กุนัน
จ่าแซม จบหลักสูตรนักทำลายจู่โจมใต้น้ำ (หน่วยซีล) รุ่นที่ 30 เข้าฝึกหลักสูตรหน่วยซีลจากนั้นก็ทำงานที่ศูนย์สงครามพิเศษทางเรือ ก่อนจะลาออกจากราชการมาปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ตระเวนระงับเหตุฝ่ายรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ท่าอากาศสุวรรณภูมิ ท่านเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่อาสาสมัครเข้าร่วมภารกิจถ้ำหลวง ด้วยใจที่มุ่งมั่นและจิตอาสาในการช่วยเหลือเด็กๆ
อีลอน มัสก์
เขาเป็นนักธุริกจและนักประดิษฐ์ชาวแอฟริกาใต้ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัทสเปซเอ็กซ์ อยู่เบื้องหลังการลงทุนและผลิตเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย นิตยสารฟอบส์ให้เป็นบุคคลที่รวยที่สุดเป็นอันดับ 56 ของโลก เมื่อปี 2018 และในปฏิบัติการถ้ำหลวงครั้งนี้ เขาได้ประดิษฐ์เรือดำน้ำขนาดเล็ก ตั้งชื่อว่า “หมูป่า” นำมาใช้ในภารกิจช่วยเหลือครั้งนี้
ครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร
ครูบาบุญชุ่ม เป็นพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีชาวไทย ผู้ได้รับความเคารพศรัทธาอย่างสูงจากชาวไทยวน ไทใหญ่ ชาวลาว รวมทั้งชาวไทยพุทธทางตอนบนของไทย ท่านเป็นนักบวชที่มุ่งเน้นเรียนกรรมฐานจากครูบาอาจารย์หลายองค์ ออกจาริกไปหลายพื้นที่ทางภาคเหนือของไทย และยังได้ความศรัทธาเป็นอย่างมากในการปรากฏตัวให้ศีลให้พรในปฏิบัติการถ้ำหลวง
หมอริชาร์ด แฮร์ริส
หมอแฮร์ริส เป็นนายแพทย์และนักดำน้ำทีมกู้ภัย ชาวออสเตรเลีย ถูกเรียกมาเป็นกรณีพิเศษช่วยเหลือภารกิจถ้ำหลวง เนื่องจากความชำนาญด้านการแพทย์และประสบการณ์ในการดำน้ำในถ้ำที่มีอันตราย เขาทำหน้าที่เป็นส่วนสำคัญในการคัดเลือกช่วยเหลือเด็กๆ ออกมาทีละคน ด้วยการคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
พาวเวอร์เจล
อาหารมื้อแรกของทีมหมูป่าติดถ้ำหลวงก็คือ พาวเวอร์เจล เป็นอาหารเหลวที่เน้นคาร์โบไฮเดรตนำมาใช้เป็นพลังงานช่วยกระตุ้นร่างกาย หลังจากที่อยู่ในภาวะขาดอาหารมาหลายวัน สารอาหารที่ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ช่วยรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย ต้านการสลายตัวของกล้ามเนื้อ และกรดอะมิโนช่วยชะลออาการล้าของกล้ามเนื้อ
หน้ากากดำน้ำเซลฟ์เฟซ
ในช่วงหนึ่งของภารกิจช่วยเหลือถ้ำหลวง ได้มีการประกาศขอรับบริจาค หน้ากากดำน้ำเซลฟ์เฟซ ไซส์เล็ก เป็นแนวทางให้เด็กๆ ได้ใช้สวมออกมาจากถ้ำ โดยหน้ากากดังกล่าวเป็นหน้ากากที่สามารถสวมปิดทั้งใบหน้า แต่สามารถสื่อสารและพูดคุยได้ เหมาะกับผู้ที่เพิ่งหัดดำน้ำขั้นเริ่มต้น
ทีมเก็บรังนกลิบง
เป็นอีกหนึ่งกลุ่มจิตอาสาที่สร้างความประทับใจ กลุ่มชาวบ้านทำอาชีพเก็บรังนกนางแอ่นบนเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ได้รวมตัวกันในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์เรื่องถ้ำ เดินทางไปยังถ้ำหลวง เพื่อเป็นจิตอาสาร่วมช่วยเหลือค้นหาผู้สูญหายทั้ง 13 ชีวิต แม้ว่าจะขาดทุนทรัพย์ แต่ก็เกิดการระดมทุนกันในชุมชน เพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางไปถึง จ.เชียงราย
เจสสิกา เทต
ร.อ.หญิง เจสสิกา เทต โฆษกกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ที่กลายเป็นอีกหนึ่งดาวเด่นระหว่างปฏิบัติการถ้ำหลวงในครั้งนี้ เธอกับทีมงานชาวอเมริกันทั้ง 30 คน ได้เดินทางมาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ ในฐานะกองบัญชาการทหารอากาศ อินโด-แปซิฟิก และยังคุ้นเคยกับประเทศไทยเป็นอย่างดี เธอทำหน้าที่เป็นส่วนช่วยประสานงานความช่วยเหลือกับทางสหรัฐฯ ในภารกิจนี้
เจมส์ ลองแมน
เขาเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศชาวอังกฤษ ประจำสถานีโทรทัศน์ช่องเอบีซีของสหรัฐอเมริกา หนุ่มทรงเสน่ห์อายุเลข 3 ต้นๆ กลายเป็นอีกหนึ่งขวัญใจของคนไทย ด้วยการคลุกคลีกับแหล่งข่าว และกินนอนอยู่ในพื้นที่ตลอดระยะเวลาของปฏิบัติการ ทำให้เขาได้แฟนคลับชาวไทยเพิ่มขึ้นอีกเป็นกอง และเขายังมีโอกาสได้พูดคุยเปิดใจพิเศษกับทีมหมูป่าทั้ง 13 คน หลังจากที่ทั้งหมดพักฟื้นตัวแล้ว
หมอภาคย์ โลหารชุน
หมอทหารหนุ่มผู้มาพร้อมกับรอยยิ้มทุกสถานการณ์ พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน เป็นหนึ่งในขวัญใจของปฏิบัติการการช่วยเหลือในครั้งนี้ เขาทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ นับตั้งแต่พบเห็นผู้สูญหายทั้ง 13 คน เขาเข้าไปร่วมในชีวิตอยู่กับกลุ่มผู้ประสบเหตุ เพื่อช่วยดูแลเรื่องสุขภาพและเตรียมความพร้อมในภารกิจช่วยเหลือออกจากถ้ำ แม้กระทั่งจบภารกิจลงแล้ว เขายังคงอยู่ดูแลผู้ประสบเหตุทุกๆ คนต่อเนื่อง วีรกรรมครั้งนี้ของเขาทำให้ได้รับฉายา “หมอแกร่งที่สุดในปฐพี”
Cr.Sanook