ตกงาน มากถึง 2 พันคน สรุปคืน 7 ช่องทีวีดิจิทัล อีก 15 ช่องขอสู้ต่ออีกเฮือก
ตกงาน / เมื่อวันที่ 10 พ.ค. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงข่าวสรุปการยื่นขอคืนใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลว่า
มีผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล มายื่นความประสงค์ต่อสำนักงาน กสทช.ที่จะคืนใบอนุญาต จำนวน 7 ช่อง ได้แก่ ไบรท์ ทีวี ช่อง 20, ช่องสปริงนิวส์ 19, ช่อง Now26, ช่องวอยซ์ ทีวี (VOICE TV 21), อสมท. (MCOT) ช่อง14 MCOT Family, ช่อง 13 แฟมิลี่ และช่อง 28 เอสดี ซึ่งทั้ง 2 ช่องหลังเป็นของช่อง 3 บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด
ทั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 และตามประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล
เพื่อให้การประกอบกิจการดังกล่าวสามารถดำรงอยู่ได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงและการรับรู้ข่าวสารของประชาชน รวมทั้งช่องความถี่ที่คืนมาจะนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปใช้งานทางด้านโทรคมนาคม เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดระบบ 5G
หลังจากนี้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลที่ยื่นความประสงค์จะคืนใบอนุญาตต่อสำนักงาน กสทช. ต้องส่งเอกสารการคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลอย่างเป็นทางการมาให้กสทช. ภายใน 60 วัน เพื่อจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกสทช. และคณะอนุกรรมการเยียวยาพิจารณา คาดว่าใช้เวลาอีก 30 วัน เพื่อดำเนินการคืนเงินให้กับผู้ประกอบกิจการ
ตามสูตรการคำนวณค่าชดเชยให้กับผู้ประกอบกิจการที่ขอใบอนุญาตของกสทช. ที่จะแบ่งการคำนวณเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก นำค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ได้ชำระแล้ว นับถึงงวดที่ 4 ซึ่งครบกำหนดจ่ายปีนี้ คูณด้วยอายุใบอนุญาตในส่วนที่ไม่ได้ใช้งานคลื่นความถี่ และหารด้วยอายุใบอนุญาตทั้งหมด คือ 15 ปี
และส่วนที่ 2 ให้คำนวณสิทธิประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับระหว่างการประกอบกิจการจากรัฐมาหักลบออก ได้แก่ เงินสนับสนุนค่าเช่าโครงข่าย (MUX) และค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมตามเกณฑ์ Must Carry ตั้งแต่วันที่ได้รับการสนับสนุนจนถึงวันยุติการให้บริการ และผลประกอบการที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึง 11 เม.ย. 2562 โดยเบื้องต้นคาดว่าผู้ประกอบการจะได้เงินคืนประมาณ 55% ของเงินที่เคยจ่ายให้กับกสทช.มาในระยะเวลา 4-5 ปีที่ประกอบกิจการ
“ทางผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลต้องยื่นส่งเอกสารการคืนใบอนุญาตให้กับกสทช.ในเวลา 60 วัน เพื่อทางสำนักงานกสทช.จะทำเรื่องเสนอคณะกรรมการกสทช. ให้อนุมัติการคืนใบอนุญาตได้ และจากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลสามารถมาขอรับเงินคืนได้เลย ซึ่งเงินดังกล่าวนำมาจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กองทุนกสทช. และเงินเยียวยานั้นจะจ่ายให้ในวันถัดจากวันยุติออกอากาศ โดยคาดว่าทุกกระบวนการจะเสร็จสิ้นในเดือนส.ค.นี้ พร้อมกันนี้ทางช่องทีวีดิจิทัลจะต้องแจ้ง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ ไม่น้อยกว่า 30 วันจึงจะยุติการออกอากาศได้”
นายฐากร กล่าวอีกว่า ทั้ง 7 ช่องที่จะคืนใบอนุญาต จะส่งผลต่อพนักงานที่จะถูกเลิกจ้าง จึงขอฝากไว้เพราะว่า ทางหัวหน้าคสช.ตอนตัดสินใจใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งนี้ เป็นห่วงพนักงานที่จะต้องตกงาน ดังนั้นเมื่อได้เงินเยียวยาแล้ว ก็ขอให้เยียวยาพนักงานให้ดีกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดด้วย โดยคาดว่าจะมีพนักงานที่ได้รับผลกระทบประมาณ 200-300 คน ต่อช่อง อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมด 22 ช่อง และเมื่อมีการขอคืน 7 ช่อง ทำให้จะเหลือเพียง 15 ช่อง
ด้าน บมจ.บีอีซีเวิลด์ (BEC) ออกแถลงการณ์ เรื่องการคืนช่องทีวีดิจิทัล ช่อง 13 และ ช่อง 28 ว่า ทางบริษัทได้ยื่นความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ช่อง 13 และ ช่อง 28 ต่อกสทช. โดยระบุ เพราะแข่งขันสูง และด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนสู่การรับชมผ่านออนไลน์ ทำให้ผลประกอบการขาดทุน และยังระบุยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์งานคุณภาพต่อไป โดยช่อง 3 ยัง มีทีวีดิจิตอลเหลืออีก 1 ช่อง คือ ช่อง 33 HD
ขอบคุณ ข่าวสด