นายกฯ จัสติน ทรูโด ของแคนาดา ประกาศแผนริเริ่มลดปริมาณขยะพลาสติกที่ปนเปื้อนมหาสมุทร โดยเตรียมจะห้ามการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเริ่มในปี 2564
ทรูโดประกาศใช้มาตรการ “ท้าทายระดับโลก” ครั้งนี้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าแคนาดาได้รับโอกาสพิเศษที่จะเป็นผู้นำการต่อสู้กับมลภาวะจากพลาสติก เพราะแคนาดามีชายฝั่งยาวที่สุดในโลก
แถลงการณ์ของรัฐบาลกล่าวว่า พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวซึ่งรัฐบาลจะห้ามใช้ในประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 นั้นรวมถึงหลอดพลาสติก, ถุงพลาสติก, เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร, จาน และที่คนกาแฟ โดยการจัดทำบัญชีรายชื่อจะอ้างอิงจากผลการวิจัยเพิ่มเติมตั้งแต่ปัจจุบันถึงปี 2564
ในแต่ละปีมีนก 1 ล้านตัว และสัตว์ทะเลมากกว่า 100,000 ตัวทั่วโลก เจ็บหรือตายเพราะติดอยู่ในขยะพลาสติกหรือกินขยะเหล่านี้ โดยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้นคิดเป็นร้อยละ 70 ของขยะพลาสติกที่ปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมทางทะเล
นอกจากการห้ามพลาสติกชนิดนี้ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ทรูโดกล่าวว่า รัฐบาลจะกำหนดเป้าหมายให้ผู้ผลิตพลาสติกชนิดอื่นๆ เช่น ขวดและบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร รับผิดชอบต่อการรีไซเคิลสินค้าของพวกเขาแบบครบวงจร โดยโรงงานผลิตและบริษัทห้างร้านที่ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องนำเสนอแผนการรีไซเคิลต่อรัฐบาล
ผู้นำแคนาดากล่าวว่า ปัจจุบันแคนาดานำพลาสติกกลับมารีไซเคิลหรือแปรรูปใช้ใหม่ ไม่ถึง 10%
ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศจี7 ที่นครควิเบกเมื่อปีที่แล้ว แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อังกฤษ และอิตาลี รวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) ได้ร่วมกันลงนามกฎบัตรพลาสติกในมหาสมุทร เพื่อต่อต้านมลภาวะในมหาสมุทรของโลก แต่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นไม่ได้เข้าร่วม
กฎบัตรที่ไม่มีผลผูกมัดฉบับนี้เรียกร้องให้ประเทศที่มีส่วนร่วมและอียูดำเนินการเพื่อทำให้พลาสติกทั้งหมดสามารถใช้ซ้ำ, นำกลับมาใช้ใหม่ หรือแปรรูปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ภายในปี 2573 ทรูโดกล่าวว่า ขณะนี้มีรัฐบาลของ 21 ประเทศแล้วที่ให้คำมั่นเรื่องนี้ และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา อียูก็ผ่านกฎหมายห้ามการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเริ่มในปี 2564
Cr. Sanook