รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ เตือนให้พ่อแม่สังเกตอาการผิดปกติให้เร็วที่สุด หากพบเด็กวัย 2 เดือนไม่สบตา ไม่มองโมบายเหมือนเด็กวัยเดียวกัน ขอให้สงสัยว่าอาจเป็นออทิสติก และควรเร่งกระตุ้นพัฒนาการเด็ก
สาเหตุของออทิสติกในเด็ก
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดเผยเกี่ยวกับเด็กที่เป็นออทิสติก (Autistic) ว่า สาเหตุของออทิสติก เกิดจากความผิดปกติในสมองของเด็กตั้งแต่กำเนิด ไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดู ทำให้เด็กบกพร่องทางพัฒนาการ โดยเฉพาะทักษะทางสังคมและการสื่อสาร โดยอาการออทิสติกยังไม่มีวิธีการป้องกัน และไม่มียารักษาหายขาด แต่สามารถดูแลฟื้นฟูให้เด็กใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับเด็กปกติได้
พบเด็กไทยเป็นออทิสติกหลัง 4 ขวบ รักษายากขึ้น
ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2558 พบว่าในกลุ่มเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ขวบทุกๆ 1,000 คน จะพบเป็นออทิสติกได้ 6 คน ในส่วนของพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งมี 4 จังหวัดคือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ซึ่งมีเด็ก 3 แสนกว่าคน คาดว่าจะมีเด็กเป็นออทิสติกประมาณ 1,900 คน โดยในปีงบประมาณ 2562 นี้ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ตั้งเป้าเพิ่มการเข้าถึงบริการให้ได้มากกว่าร้อยละ 50 ผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนนี้ ในภาพรวมเข้าถึงบริการแล้วร้อยละ 25 ส่วนใหญ่มักมาเมื่ออายุเกิน 4 ขวบ ทำให้ประสิทธิภาพการฟื้นฟูได้ผลดีไม่เท่าที่ควร
ดูแลเด็กออทิสติกไม่ถูกวิธี มีผลเสียถึงตอนโต
ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางแห่ง ยังใช้วิธีการดูแลเด็กที่มีปัญหาพูดล่าช้าตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา เช่นใช้เขียดตบปาก เพื่อให้เด็กพูดเร็วขึ้น เป็นต้น ซึ่งหากเป็นเด็กออทิสติก จะทำให้เด็กขาดโอกาสได้รับการดูแลกระตุ้นแก้ไขพัฒนาการ มีผลเสียติดตัวไปจนถึงตอนโตหรือตลอดชีวิต” นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
ข้อสังเกต ลูกเป็น “ออทิสติก” หรือเปล่า?
อายุ 2 เดือน
- ไม่จ้องหน้า
- ไม่สบตา
- ไม่จ้องมองโมบายที่แขวนที่เปลนอน
อายุเข้า 2 ขวบ
- ไม่พูด หรือพูดไม่รู้เรื่อง
- พูดเป็นภาษาต่างด้าว
- พูดซ้ำๆ เลียนแบบโดยไม่เข้าใจความหมาย หรือพูดไม่มีความหมาย
- สื่อสารบอกใครไม่ได้
- ไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนอื่น
อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ใช้ได้ผลที่สุดคือการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเด็กทุกวัน พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถดูได้ หากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะเห็นได้ชัดขณะอุ้มลูกดูดนม ผู้ปกครองสามารถกระตุ้นตามคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่ได้รับแจกไป และให้รีบพาไปปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อประเมินซ้ำและดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และติดตามต่อเนื่องในช่วงอายุ 9, 18, 30, และ 42 เดือน จะให้ผลดีที่สุด เด็กจะมีพัฒนาการและต้นทุนชีวิตดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงเด็กปกติที่สุด
ประการสำคัญที่สุดพ่อแม่ควรเร่งกระตุ้นพัฒนาการลูกควบคู่กันไปด้วย โดยการเล่นกับลูกมากขึ้น เช่น จ๊ะเอ๋ ปูไต่ ฝึกการกระตุ้นพัฒนาการด้วยของเล่นที่มีสีสันสดใส เคลื่อนไหวได้และมีเสียง พูดคุยกับเด็ก เล่านิทานจากภาพ ชี้อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ทำท่าทางประกอบการเล่า พาไปสนามเด็กเล่น ก็จะช่วยส่งเสริมพัฒนาลูกในเบื้องต้นได้มาก
Cr.Sanook