เกมการยื้อ การต่อรองที่เป็นปัญหา ทำให้ดีลร่วมรัฐบาลของประชาธิปัตย์ไม่ลงตัว หากฟังจากทางฝั่ง “สีฟ้า” ก็จับใจความสำคัญได้ว่า ต้นเหตุไม่ได้อยู่กับฝ่ายตัวเอง แต่เป็นเพราะพลังประชารัฐเคลียร์เก้าอี้ภายในกันไม่ลงตัวเอง เลยทำให้ข้อเสนอของพรรคร่วมที่ไปเชิญมาไม่ได้รับการตอบสนอง
แต่แทนที่จะพยายามเจรจาต่อรองกันเป็นการภายในหรือในทางลับ กลับมีการใช้วงนอก ใช้สื่อในการส่งสัญญาณกันแทน ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะหาจุดลงตัว โดยเฉพาะเมื่อมีแนวคิดจะโหวตเลือกนายกฯ ก่อน เพื่อเช็คเสียง แล้วค่อยมาเกลี่ยตำแหน่งกันภายหลัง เพราะเป็นรูปแบบที่ผิดธรรมเนียมการร่วมมือทางการเมืองกันในอดีต และหากดื้อเอาทางนี้จริง มีโอกาสที่จะเป็นได้เพียงรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ไม่มีทางอายุยืนแน่นอน
ทางออกที่พอจะเป็นไปได้ของปัญหานี้ อันดับแรกคือต้องคุยกันใหม่ทั้งหมดทุกพรรคให้จบในวงประชุมรวมทีเดียว โดยให้คนที่ตัดสินใจได้จริงๆ ที่จะสามารถฟันธงว่า “ได้หรือไม่ได้” เข้าร่วม ไม่ใช่คนที่เข้าประชุมไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ และต้องนำกลับไปถามพรรคอีก เพราะหากทำได้แบบนี้ทุกอย่างจะจบ และจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากสามารถเดินหน้าต่อได้ทันที
แต่หากเลือกไม่คุยตอนนี้ หวังให้ทุกพรรคโหวตเลือกนายกฯ ก่อน แน่นอนว่าคงไม่มีปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพลังประชารัฐคงไม่พลาดตำแหน่ง เพราะมี ส.ว. 250 คน มาช่วยหนุน แต่ปัญหาจะเกิดหลังการโหวตไปแล้ว เพราะจะเอาความเป็นนายกฯ มากดดันให้ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย หรือ ชาติไทยพัฒนา 3 พรรคที่จะต้องมีเก้าอี้รัฐมนตรี ทำตามโดยไม่พูด ไม่โต้ ไม่เถียง คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อโหวตมาแล้ว ความเป็นหัวหน้า คสช. จะหมดไป ม.44 จะไม่มีให้ใช้จัดการกับใครได้อีก
และหาก 3 พรรคนี้ไม่เอาด้วย เสียงของรัฐบาลจะหายไปถึง 114 ที่นั่ง เหลือแค่ 137 จากพลังประชารัฐ และรวมกับพรรคเล็กๆ ซึ่งมันไม่เพียงพอที่จะทำอะไรได้เลย แถลงนโยบายต่อสภา หรือกฎหมายอะไรที่เสนอก็คงตกทั้งหมด อายุของรัฐบาลก็จะสั้นมากๆ แม้จะมั่นใจว่ามีเสียงส่วนหนึ่งของประชาธิปัตย์ปันใจมาสนับสนุนให้ ก็คงไม่เพียงพอที่จะต่ออายุรัฐบาลได้ ท้ายที่สุดก็ต้องพังต้องยุบสภาอยู่ดี และเมื่อถึงวันนั้นมั่นใจแค่ไหนว่า หากต้องเลือกตั้งใหม่ พลังประชารัฐ จะเข้าสภาได้มากแบบนี้อีก เพราะเลือกตั้งซ่อมที่เชียงใหม่ก็เป็นตัวชี้วัดได้เป็นอย่างดี
ทางเลือกของพลังประชารัฐมีให้เลือกแค่นี้ แต่ทางเดินของประชาธิปัตย์ที่ภายในไม่ค่อยมีเอกภาพมากนักก็มีไม่มากเช่นกัน ตอนนี้แต้มต่อเดียวที่ประชาธิปัตย์มี คือการจับมือที่แข็งแกร่งกับภูมิใจไทย หากยึดมั่นสัญญาไปไหนไปด้วยกันอย่างตลอดรอดฝั่ง อำนาจต่อรองก็จะยังสูงลิ่วอยู่เหมือนเดิม และที่เพิ่มเติมมาอีก คือตำแหน่งประธานสภาฯ อยู่ในมือ “ชวน หลีกภัย”
ดังนั้น พลังประชารัฐจะเป็นรัฐบาล เสียงข้างมาก หรือ เสียงข้างน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแกนนำ เพราะหากเลือกพลาด โอกาสที่เกมจะพลิกกลับไปอีกขั้ว หรือแนวทางขั้วที่ 3 จะกลับมาก็คงมีได้เช่นกัน!!!
ขอบคุณ Sanook