รีดภาษี ยาเส้น ทำราคาขยับขึ้นซองละ 3 บาท รัฐกระเป๋าตุงเพิ่มอีก 2 พันล้าน
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต ยาเส้น จาก 0.005% ต่อกรัม เป็น 0.1% ต่อกรัม มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.2562 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาขายปลีกยาเส้น มีการปรับขึ้นทันที โดยยาเส้นขนาดบรรจุ 20-30 กรัม ต่อซอง เพิ่มขึ้นจาก 10 บาทเป็น 13 บาท โดยยาเส้นซองเล็กขนาดบรรจุ 5 บาท ขนาดไม่ถึง 10 กรัม เพิ่มขึ้น 2 บาท เป็น 7 บาท ซึ่งเดิมกรมเก็บภาษีที่ขนาด 10 กรัม เดิมเสีย 5 สตางค์ เพิ่มเป็น 1 บาท
ทั้งนี้ การปรับขึ้นภาษีจะทำให้กรมมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิม 130 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณการบริโภคยาเส้นมีการปรับเพิ่มขึ้นมาก จากเดิมในปี 2559 อยู่ที่ 12 ล้านกิโลกรัม เป็น 26 ล้านกิโลกรัม ในปี 2560
ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ที่เริ่มมีผลในช่วง ก.ย.2560 ทำให้คนหันมาสูบยาเส้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากบุหรี่ซองมีการปรับราคาเพิ่ม ทำให้กรมต้องปรับขึ้นภาษียาเส้นเพิ่มเพื่อลดช่องว่างราคาขายปลีกบุหรี่กับยาเส้นจากเดิม 300 เท่าเหลือ 17 เท่า เพราะไม่ต้องการส่งเสริมให้คนบริโภคในสิ่งที่เป็นอันตราย
“เหตุผลในการปรับภาษียาเส้น เพราะกรมเห็นพฤติกรรมผู้สูบที่หนีจากบุหรี่ซองที่ขายราคา 60-165 บาทต่อซองไปสูบยาเส้นเพิ่มขึ้น กรมจึงมีความเพราะปัจจุบันยาเส้นยังไม่มีมาตรฐานเท่าไหร่ ไม่มีก้นกรอง ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ อีกทั้งรัฐบาลไม่ต้องการส่งเสริมให้บริโภคสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงมีการปรับขึ้นภาษียาเส้น และคาดว่าจากอัตราภาษีใหม่นี้จะทำให้มีการบริโภคลดลง”นายพชร กล่าว
นายพชร กล่าวว่า การปรับขึ้นภาษียาเส้นจะไม่กระทบกับเกษตรกร หรือผลผลิตชุมชน เพราะ ผู้ผลิตรายเล็กถ้ามีการขึ้นทะเบียน บ่ม หั่นใบยาขายให้การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ก็ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว จะมีเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ประมาณ 20-30 แห่งที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบขยายเวลาปรับอัตราภาษีบุหรี่ เป็น 40% จากปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 20% และ 40% ออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว ซึ่งในส่วนนี้ส่งผลให้ไม่กระทบกับการจัดเก็บรายได้จากภาษีบุหรี่ คาดว่าจะจัดเก็บได้เพิ่มเล็กน้อยจากเดิมที่ 60,000 ล้านบาทต่อปี
สำหรับมาตรการภาษีเพื่อลดปริมาณฝุ่น โดยจัดเก็บตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในจักรยานยนต์ จะมีผลในมีผลในวันที่ 1 ม.ค.2563 โดยยืนยันว่าจะไม่กระทบกับรถจักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กในปัจจุบันกว่า 90% หรือปริมาณ 1.48 ล้านคัน เพราะมีขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 150 CC ทำให้มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น 100-200 บาทต่อคันเท่านั้น
ส่วนรถบิ๊กไบก์ที่มีขนาดมากกว่า 1,000 CC ซึ่งมีกว่า 1,000 คัน ที่ปัจจุบันเสียภาษี 17% ก็มีโอกาสที่จะเสียภาษีเพิ่มขึ้น หรือลดลงหากมีการปรับเทคโนโลยีในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ประเมินว่าภาษีดังกล่าวจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 30-40% หรือประมาณ 600-800 บาท จากปัจจุบันที่จัดเก็บได้ 2,000 ล้านบาทต่อปี