โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เตือนให้ระวังและคอยหมั่นสังเกตอาการ ย้ำไม่ให้มองข้ามอาการบ่งชี้ เพราะอาจเสี่ยงเป็นช็อกโกแลตซีสต์ได้
ช็อกโกแลตซีสต์ คืออะไร?
นายแพทย์สุกรม ชีเจริญ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ช็อกโกแลตซีสต์ หรือ ถุงน้ำช็อกโกแลต ที่ในทางการแพทย์เรียกว่า เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ สาเหตุส่วนใหญ่ของช็อกโกแลตซีสต์ เกิดจากประจำเดือนส่วนหนึ่งไหลย้อนไปทางปีกมดลูก แล้วเข้าไปฝังตัวที่อื่นๆ โดยนำเซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกเข้าไปด้วย เมื่อเซลล์นี้ไปฝังตัวอยู่ที่อวัยวะไหนก็จะเกิดถุงน้ำขึ้นที่อวัยวะนั้น ส่วนมากเราจะพบจุดเกิด ช็อกโกแลตซีสต์บ่อยๆได้ในรังไข่ แต่ถ้าเยื่อบุโพรงมดลูกแทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูกจะไม่กลายเป็นซีสต์ ทว่าจะกลายเป็นพังผืดหรือก้อนในกล้ามเนื้อมดลูกแทน
อันตรายของช็อกโกแลตซีสต์
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ช็อกโกแลตซีสต์เป็นโรคที่มีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิง จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดได้กับผู้หญิงทุกคน ช็อกโกแลตซีสต์มักพบมากกับผู้หญิงที่มีอายุ 30-40 ปีขึ้นไป หรือวัยก่อนหมดประจำเดือน หลายคนไม่สามารถแยกแยะออกว่า การปวดท้องเป็นการปวดประจำเดือนปกติ หรือปวดเพราะเป็นช็อกโกแลตซีสต์ บางคนอาจไม่มีอาการปวดเลย ยกเว้นเมื่อขนาดของซีสต์โตมากๆ แล้วไปกดอวัยวะข้างเคียง หรือแตกออกมา ส่งผลให้เกิดภาวะปวดท้องรุนแรง หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ ให้รีบมาพบสูตินรีแพทย์เพื่อรักษาและป้องกันไม่ให้ลุกลาม หากปล่อยทิ้งไว้นานๆอาจลามถึงมะเร็งได้
กลุ่มเสียงช็อกโกแลตซีสต์
กลุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้คือผู้ที่มีประจำเดือนมามากกว่าเดือนละ 2 ครั้ง หรือมานานกว่า 7 วัน หรือผู้ที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้มาก่อน จะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปหลายเท่า
สัญญาณอันตราย “ช็อกโกแล็ตซีสต์”
- ปวดท้องมาก หรือปวดท้องน้อยเรื้อรังเมื่อมีประจำเดือน และปวดมากขึ้นทุกเดือน
- ปวดด้านหน้าตั้งแต่สะดือไปถึงอุ้งเชิงกราน ด้านหลังตั้งแต่บั้นเอวไปถึงก้นกบ
- มีอาการเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์
การรักษาโรคช็อกโกแลตซีสต์
การรักษาทำได้โดย การใช้ยา และการผ่าตัด หากพบว่าถุงน้ำยังเป็นขนาดเล็ก แพทย์จะให้ยารักษาหรือฉีดยาเพื่อลดขนาดซีสต์ ถ้าเป็นขนาดใหญ่ แพทย์จะทำการผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง ดังนั้นหากพบว่ามีอาการบ่งชี้เสี่ยงต่อการเป็นช็อกโกแลตซีสต์ ควรรีบมาพบสูตินรีแพทย์ เพื่อทำการตรวจและรักษาต่อไป
ขอบคุณ Sanook