จิตแพทย์เด็ก แนะวิธีลงโทษ “แม่การะเกด” หากมิเฆี่ยนตีจะทำเยี่ยงใด?
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แนะนำวิธีการลงโทษที่ได้ผลดีกว่าการเฆี่ยนตี เน้นควรปรับพฤติกรรม ทำงานบ้านเพื่อรักษาความสัมพันธ์ เด็กจะต่อต้านน้อย เชื่อฟัง และมีความเกรงใจ ย้ำต้องทำตั้งแต่ยังเล็ก
วันนี้ ( 15 มี.ค.2561) พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ หมอมินบานเย็น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา โพสต์ข้อความเรื่องการลงโทษ ยกกรณีจากละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่แม่หญิงการะเกดถูกเฆี่ยนตี เพราะหนีเที่ยวและมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยระบุว่า การลงโทษมีหลากหลายวิธี การตีอาจจะช่วยลดพฤติกรรมของเด็กได้รวดเร็ว แต่การตีอาจทำให้เด็กรู้สึกขาดความเชื่อมั่น นำไปสู่การมองตัวเองในแง่ลบ ไม่มั่นใจ สูญเสียคุณค่าในตัวเอง
ข้อความตอนหนึ่งของโพสต์ระบุว่า แม้จะเป็นเด็กดีขนาดไหน ต้องมีบางครั้งที่เด็กๆ ทำผิด แน่นอนการทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ควรปล่อยปละละเลย แต่วิธีลงโทษก็มีหลากหลาย ในแต่ละพฤติกรรมไม่ดีของเด็ก บางทีก็มี ‘หลายด้าน’ ให้พิจารณา
ขอยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับการะเกดให้ดูเป็นตัวอย่าง
1. พิจารณาด้านดีและไม่ดีของพฤติกรรมการะเกด
ด้านไม่ดี: แอบหนีไปเที่ยวตลาดโดยไม่ได้รับอนุญาต และไปใช้กำลังชกต่อยกับคนจีนเฝ้าซ่องซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย
ด้านดี: มีความกล้าหาญที่แม้ว่าจะเป็นผู้หญิงคนเดียว แต่กล้าที่จะต่อสู้กับผู้ชายที่เข้ามาลวนลาม ป้องกันตัวเองได้ และมีความซื่อสัตย์และกล้าหาญ ที่ออกรับผิดแทนบ่าว
2. ชมเชยในพฤติกรรมที่เห็นว่าดี ลงโทษในพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ในด้านดีก็ควรจะชมเชยให้เห็นว่าผู้ใหญ่มองเห็นว่าตรงนี้เด็กทำดี ทำให้เด็กคิดวิเคราะห์อะไรในมุมมองที่กว้างขึ้น ฝึกการคิดรอบด้านให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่างด้วย แต่ใช่ว่าจะชมเท่านั้น ด้านที่ไม่เหมาะสม ก็ไม่ควรละเลย
3. ลงโทษด้วยการตีให้หลาบจำได้ไหม
จะเห็นในละครว่า การเฆี่ยนตีทำให้เกิดความรู้สึกแย่กันไปทุกฝ่าย การตีอาจจะช่วยลดพฤติกรรมไม่ดีของเด็กให้เกิดขึ้นน้อยลง และมันก็หยุดเด็กที่ทำตัวไม่ดีได้รวดเร็วดี แต่ข้อไม่ดีก็คือ การตีเป็นการลงโทษที่ทำให้สัมพันธภาพของคนที่ตีและคนที่ถูกตีเสียไปได้ง่าย ยิ่งเป็นการตีที่รุนแรง ใช้อารมณ์ มีคำพูดด่าทอดุว่ารุนแรงผสมเข้าไป ก็นอกจากเจ็บตัวแต่ทำให้เจ็บใจไปทุกฝ่าย และหมอก็คิดว่าคนที่ตี โดยมากไม่มีใครอยากจะตีเด็กหรอก
นอกจากนั้นการตีที่รุนแรง บ่อยครั้ง ตีโดยไม่รับฟังและไม่เห็นอกเห็นใจ ก็อาจจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าผู้ใหญ่ที่ตีเขา ไม่เข้าใจ ไม่รักเขาหรือเปล่า ถ้าเป็นนานๆ ก็จะทำให้เด็กรู้สึกขาดความเชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจ นำไปสู่การมองตัวเองในแง่ลบ ไม่มั่นใจ สูญเสียคุณค่าในตัวเอง กลายเป็นคนอารมณ์ไม่มั่นคง อาจมีการใช้ความรุนแรงกับคนรอบข้าง เพราะเรียนรู้ซึมซับมาโดยไม่รู้ตัว ส่วนตัวหมอจึงไม่ค่อยชอบการตีเท่าไหร่
4. แล้วถ้าไม่ตี ต้องลงโทษอย่างไร
นอกจากการตี ก็มีหลายวิธีที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ผิดถูก ใช้วิธีการปรับพฤติกรรมวิธีอื่นจะดีกว่าการตี เช่น การตัดสิทธิ์ที่ชอบ ตัวอย่าง ทำโทษการะเกดไม่ให้ไปเที่ยวที่ไหนเป็นเวลา 1 อาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่การะเกดชอบมาก ถ้าถูกลงโทษเช่นนี้คงไม่กล้าทำผิดไปอีกนานทีเดียว หรือ การให้ทำความดีชดเชย เช่น ให้ทำงานบ้าน (ควรเลือกเป็นงานที่น่าเบื่อและการะเกดไม่ชอบทำ) 2 อาทิตย์ เป็นต้น
หลักการในการปรับพฤติกรรมเด็กนั้น หากจะทำให้ได้ผลดีต้องทำด้วยพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เด็กจะต่อต้านน้อยกว่า เชื่อฟังและมีความเกรงใจมากกว่า และต้องเริ่มทำตั้งแต่เด็กยังเล็ก
สิ่งที่เด็กทำได้ดีก็ต้องชมเชยด้วย ใช่ว่าจะมองหาสิ่งที่เด็กทำผิดอย่างเดียว และผู้ใหญ่ต้องจัดการอารมณ์ให้ดี บางครั้งผู้ใหญ่ก็โกรธมากจนทำให้ปรับพฤติกรรมได้ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะความโกรธจนขาดสติ อย่าลืมว่า การปรับพฤติกรรมไม่ใช่การเอาชนะคะคานกัน
ทั้งนี้ พญ.เบญจพร ยังระบุว่า ในเด็กโตการตีมักทำให้เกิดการต่อต้าน ซึ่งมักใช้ไม่ได้ผล จึงขอให้ใช้การทำโทษอย่างอื่นก่อนการตี