31 พ.ค. 62 – ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยระบุว่า ล่าสุดมีการส่งสัญญาณจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล ให้ฝ่ายการเมืองเป็นผู้ดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อให้เป็นรูปแบบของการเมืองมากขึ้นโดยมีนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคฯ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคฯ เป็นผู้ดำเนินการ
สอดคล้องกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า การตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องของพรรคการเมือง เนื่องจากพรรคร่วมโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) อาจไม่สบายใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่าจะเป็นผู้พิจารณารายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม จากการเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยก่อนหน้านี้ มีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณากันต่อไป ซึ่งอาจมีการเกลี่ยกระทรวงกันใหม่จากเดิมที่วางไว้แล้ว โดยพิจารณาที่ด้านนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง โดยตำแหน่งในกระทรวงต่างๆ จะต้องจัดลำดับความสำคัญ และคำนึงถึงเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย
ทั้งนี้ พลังประชารัฐตั้งเป้าจะตกลงกันให้ได้ก่อนวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ในขั้นสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นคนเคาะรายชื่อบุคคลต่างๆ ว่าเหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงที่ได้รับหรือไม่ด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า แกนนำพลังประชารัฐมองว่า หากภาพรวมกระทรวงเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ฯลฯ ไม่ได้เป็นของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็จะกระทบกับคนชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ซึ่งที่สุดจะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้นจึงต้องมาร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบ
“ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐไม่ได้กังวลการรวมเสียงโหวตนายกรัฐมนตรี เพราะแม้ยังตกลงกับพรรคร่วมไม่ได้ แต่กลไกตามรัฐธรรมนูญยังเปิดช่องให้ ส.ว.สามารถร่วมโหวตนายกฯ ได้ ซึ่งเมื่อรวมเสียงพลังประชารัฐกับพรรคที่ออกตัวแล้วว่าจะร่วมรัฐบาลด้วย จะเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภาไปแล้ว โดยพรรคจะใช้ทางเลือกนี้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถปิดดีลกับประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยได้ นั่นคือ โหวตนายกฯ ไปก่อนแล้วค่อยคุยกับ 2 พรรคต่อในภายหลัง” รายงานข่าวระบุ
ขอบคุณ Sanook