ค่าเฉลี่ยของการทำงานในแต่ละวันของวัยทำงานในประเทศไทยอยู่ที่กี่ชั่วโมง?
โดยเฉลี่ยแล้วหากทำงานราชการ เข้างาน 7.00-8.00 น. เลิกงาน 16.00-17.00 น. หากทำงานเอกชน เริ่มตั้งแต่ 8.30-10.00 น. เลิกงาน 17.30-19.00 น. ดังนั้นหากตัดเวลาช่วงพักกลางวันออกไป ค่าเฉลี่ยในการทำงานของแต่ละวันจะอยู่ที่ 8-8.30 ชม. ไม่รวมการทำงานล่วงเวลา และในงานบางสาขาก็อาจจะนานมากกว่านั้น
แต่งานวิจัยล่าสุดจาก Social Science and Medicine วารสารทางวิชาการที่ได้รับการทบทวนโดยครอบคลุมการวิจัยทางสังคมศาสตร์ด้านสุขภาพ ระบุว่า เราควรทำงานเพียง 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของระยะเวลาในการทำงานใน 1 วันของวัยทำงานทั่วไปที่อยู่ที่ 8.5 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อส่งผลดีต่อสุขภาพจิต และประสิทธิภาพในการทำงาน แม้จะทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็ยังให้ผลลัพธ์เท่าเดิมอยู่ดี
Daiga Kamerade นักเขียน และนักสัมคมวิทยาจากมหาวิทยาลัย University of Salford ในประเทศอังกฤษกล่าวว่า “เหมือนกับการรับประทานวิตามินซี เราต้องการแต่ปริมาณหนึ่งเท่านั้น หากรับประทานเกินจำนวนที่ต้องการไปก็ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรเพิ่มเติมต่อร่างกาย และหากได้รับมากเกินไปอาจทำร้ายร่างกายได้” ในกรณีนี้พูดถึงการทำงานหนักเกินไป ซึ่งถึงแม้ในบางกรณีจะทำให้ได้งานที่ลุล่วงสำเร็จในปริมาณมาก แต่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ภาวะ burnout หรือเหนื่อยล้าจากการทำงานหนักมากเกินไปได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยหน้าที่การงาน กฎระเบียบของบริษัท รวมไปถึงการหาเลี้ยงชีพเพื่อให้อยู่ได้ในสังคมปัจจุบัน ระยะเวลาในการทำงานยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เราต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพราะเมื่อคิดค่าแรงงานเป็นชั่วโมง การทำงานเพียง 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อาจหาเลี้ยงชีพเพื่ออยู่รอด และเพื่อเก็บออมไม่ได้ เรื่องนี้จึงยังเป็นเพียงทฤษฎีที่ทำได้แค่รับทราบ แต่ยังปฏิบัติจริงไม่ได้
ที่สำคัญคือ การผ่อนคลายความเครียดหลังจากการทำงาน หากรู้สึกว่าเริ่มไม่มีความสุขในการทำงาน ไม่อยากตื่นนอนในตอนเช้า นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก ไม่ได้ยิ้มหรือหัวเราะเป็นเวลานานๆ หรือมีสัญญาณผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป
Cr.Sanook