มะเร็งเต้านม (Breast cancer) เป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 ในผู้หญิงไทยและมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี เป็นโรคที่“ไม่มีวัคซีนป้องกันเหมือนมะเร็งปากมดลูก” และกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก คือ ผู้หญิงช่วงอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป แต่ “ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม”ได้ วันนี้เราจึงได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม ที่ผู้หญิงควรรู้ และยิ่งรู้เร็ว จะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง
มะเร็งเต้านมคืออะไร ?
มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่เกิดขึ้นจาก เซลล์บนผิวของต่อมน้ำนมและท่อน้ำนมได้รับผลกระทบจากสารก่อมะเร็ง ยีนจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ทำให้เซลล์เพิ่มจำนวนขึ้นโดยไม่สามารถควบคุมได้ เกินขีดจำกัดของร่างกาย และเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด มะเร็งเต้านมมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยผู้ชายมีโอกาสพบได้น้อยมากเพียง1 % ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด
สัญญาณอันตราย “มะเร็งเต้านม”
- พบก้อนหรือเนื้อที่เป็นไตแข็งผิดปกติตรงบริเวณเต้านม
- มีน้ำเหลืองและเลือดไหลจากหัวนม
- ผิวหนังบริเวณเต้านมเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นรอยบุ๋มหรือผิวหนังบวมหนาตึง เหมือนผิวของเปลือกส้ม
- หัวนมถูกดึงรั้งจนผิดปกติ
- ผิวหนังบริเวณลานหัวนมมีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีผื่นคันที่เป็นๆ หายๆ
- ขนาดและรูปร่างต่างกันอย่างผิดปกติ
การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
การตรวจมะเร็งเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น พบว่าร้อยละ 80 ของเนื้องอกที่เต้านมผู้หญิงนั้นถูกตรวจพบครั้งแรกด้วยตนเอง การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ควรทำทุกเดือนตั้งแต่วัยสาวถึงวัยสูงอายุ เวลาที่ดีที่สุดที่จะทำการตรวจ คือ หลังหมดระดูแล้ว 3-10 วัน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่คัดตึงทำให้ตรวจได้ง่ายสำหรับผู้หญิงที่หมดระดู หรือได้รับการตัดมดลูก จะเป็นการดีถ้าได้ทำการตรวจเต้านมตนเองทุกวันที่หนึ่งของทุกเดือน
วิธีการตรวจ 3 ท่า
ทุกท่าจะต้องบิดลำตัวไปทั้งทางซ้ายและขวา สังเกตรูปร่าง ลักษณะ ความผิดปกติของผิวหนังรอยบุ๋ม รอยนูนของเต้านมหรือสิ่งผิดปกติอื่นๆ ของเต้านมทั้ง 2 ข้าง โดยมีท่า ดังนี้
- ยืนหน้ากระจก
ปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบาย
ยกแขนทั้ง 2 ข้างเหนือศีรษะ
ท้าวเอว เกร็งอกเพื่อให้ผนังทรวงอกกระชับขึ้น
โค้งตัวมาข้างหน้าใช้มือทั้ง 2 ข้างท้าวเอว
- นอนราบ
นอนให้สบาย ตรวจเต้านมขวาให้สอดหมอนหรือม้วนผ้าใต้ไหล่ขวา
ยกแขนขวาเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมด้านนั้นแผ่ราบซึ่งจะทำให้คลำง่ายขึ้น โดยเฉพาะส่วนบนด้านนอกมีเนื้อหนามากที่สุด และมีการเกิดมะเร็งบ่อยที่สุด
ใช้กึ่งกลางตอนบนของนิ้วมือซ้าย (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง) คลำทั่วเต้านมและรักแร้ ที่สำคัญคือห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อซึ่งความจริงไม่ใช่ และทำวิธีเดียวกันนี้กับเต้านมด้านซ้าย
- ขณะอาบน้ำ
สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็กให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจบนศีรษะ แล้วใช้นิ้วมืออีกข้างคลำไปทิศทางเดียวกับที่ใช้ในท่านอน
สำหรับผู้ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้นิ้วมือข้างนั้นประคอง และตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างให้ตรวจคลำเต้านมด้านบน
บางครั้งการคลำเจอก้อนเนื้อที่บริเวณเต้านมด้วยตัวเอง อาจไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็น มะเร็งเต้านม เสมอไป ฉะนั้นอย่าเพิ่งวิตกจนเกินเหตุ ทางที่ดีควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาได้อย่างตรงจุดจะปลอดภัยที่สุด
Cr. Sanook