กล่องโฟม เป็นหนึ่งในภาชนะที่นิยมสำหรับคนไทย โดยเฉพาะคนในเมืองที่ซื้ออาหารสำเร็จรูปทานอยู่เป็นประจำ หรืออาจจะซื้อเนื้อสัตว์สด ผักสดบรรจุกล่องโฟมพันรอบด้วยพลาสติกใส แพกเกจหยิบจับได้ง่ายและแลดูสะอาดสะอ้าน แต่กล่องโฟมจะมีสารก่อมะเร็งอย่างที่หลายคนเคยได้ยินหรือไม่
รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยอธิบายเอาไว้ในเฟซบุค Jessada Denduangboripant โดยสรุปได้ว่า กล่องโฟม ไม่ได้อันตรายจากสไตรีน จึงไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอย่างที่หลายคนคิด เพราะสารสไตรีนจะเป็นอันตรายต่อร่างกายจริง แต่กล่องโฟมที่ใช้นั้น เป็น “โพลีสไตรีน” ที่มีความเสถียรสูงมาก เบา ทนทาน เบา ขึ้นรูปง่าย ทนกรดด่าง และความร้อนได้ดี และได้รับการรับรองว่าปลอดภัยจากองค์กรอาหารทั่วโลก
กล่องโฟม เสี่ยงมะเร็ง?
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กล่องโฟมบรรจุอาหารเชื่อมโยงกับมะเร็งโดยตรงนั้น อันที่จริงยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ขนาดนั้น สิ่งที่สำคัญคือว่า โฟมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีสารสไตรีน ซึ่งจะออกมาปนเปื้อนกันอาหารเมื่อถูกความร้อนหรือความมัน ในเกณฑ์มาตรฐานสัก 1,000 มิลลิกรัม อาจจะละลายปนเปื้อนออกมาสัก 300-400 มิลลิกรัม ซึ่งถ้าประชาชนกินอาหารที่มีสารสไตรีนปนเปื้อนอยู่เรื่อยๆ สารตัวนี้จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ผู้บริโภคต้องระมัดระวัง แม้จะเป็นปริมาณไม่เยอะ แต่ด้วยปริมาณ ความถี่ และระยะเวลาที่สะสม ก็อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงได้
สารสไตรีนอาจจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อร่างกายได้หากสัมผัสสารที่มีความเข้มข้นสูง การบริโภคอาจจะไม่ส่งผลเท่าใด แต่ผู้ที่ต้องผลิตกล่องโฟมหรือผู้ที่ต้องทำลายกล่องโฟมนั้นจะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง
เลือกใช้กล่องโฟมอย่างไรให้ปลอดภัย?
ในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับกล่องโฟมในท้องตลาด จึงมีการตรวจมาตรฐานผลิตภัณฑ์กล่องโฟมอยู่เสมอ และสารสไตรีนก็ปลอดภัยต่อการใส่อาหารได้ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง ดังนั้นผู้บริโภคอย่างเราๆ จึงสามารถใช้กล่องโฟม (ที่มีมาตรฐานการผลิตที่ดี) ได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม กล่องโฟมยังนับว่าเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยาก วิธีกำจัดก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน ดังนั้นจะเป็นการดีที่เราลดการใช้กล่องโฟมมาเป็นกล่องกระดาษ หรือใส่กล่องอาหารของตัวเอง เช่นเดียวกันกับการรณรงค์ให้ใช้แก้วของตัวเองใส่เครื่องดื่ม หรือการใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก
ขอบคุณ Sanook