กรมประมง สั่งกักเรือ ลากอวนติดฉลามวาฬ รีรอไม่ยอมปล่อยจนตาย ลั่นเอาเรื่องถึงที่สุด
จากกรณี เรือประมง “แสงสมุทร 3” ได้ลากอวนติดฉลามวาฬขนาดใหญ่ หลังจากนั้น พบว่าเรือที่พานักดำน้ำออกดำน้ำ ได้ไปพบเข้า และได้เข้าเจรจาขอร้องให้ปล่อยฉลามวาฬตัวดังกล่าว ซึ่งพบว่ากำลังตั้งท้องอยู่ด้วย แต่มีความพยายามขับเรือห่างออกไป และกว่าจะปล่อยฉลามวาฬ ก็พบว่าสายไปและตายลงพร้อมลูกในท้องในเวลาต่อมา
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง เรือประมง ล่าโหด ‘ฉลามวาฬท้องแก่’ เจ้าหน้าที่ร้องห้ามไม่ฟัง -ลูกไหลออกจากท้อง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พ.ค. นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ ที่ท่าเทียบเรือประมงแพแสงอรุณภูเก็ตด้วยตนเอง เบื้องต้นจากการตรวจสอบและรายงานจากเจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่ พบว่า 1.เรือประมงดังกล่าวทำการประมงประเภทอวนลาก ชื่อเรือแสงสมุทร 3 ทะเบียนเรือ 228304242 เลขที่ใบอนุญาตทำการประมง 618301010283 เจ้าของเรือคือนายวัชรพล วรรณะ มีนายสมสมัย มีจอม เป็นผู้ควบคุมเรือ 2.เจ้าหน้าที่สหวิชาชีพได้ตรวจเรือที่แจ้งเข้าท่าเวลา 22.00 น ของวันที่ 18 พ.ค. พบหลักฐานจากการชี้แจงของผู้ควบคุมเรือ ยอมรับว่าภาพทางสื่อออนไลน์เป็นเรือดังกล่าวจริง
โดยร่วมกับเรือประมงแสงสมุทร 2 ที่มีนายรัตนา พรหมงาม เป็นผู้ควบคุมเรือ ทำการประมงลากคู่จับสัตว์น้ำในทะเลอันดามัน เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวจึงรวบหลักฐานแจ้งลงบันทึกประจำวัน และร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสืบสวน สภ.เมืองภูเก็ต เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 66 พ.ร.ก.การประมง.พ.ศ.2558 ประกอบประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ที่ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง พ.ศ.2559 ข้อ 2 (4) ฉลามวาฬ เพื่อดำเนินคดีกับนายสมสมัย มีจอม และนายรัตนา พรหมงาม และผู้กระทำผิด จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
3.ได้สั่งดำเนินการกักเรือ ยึดสัตว์น้ำและเครื่องมือ โดยกรมประมงประสานไปยังกรมเจ้าท่าเพื่อดำเนินการล็อกเรือ ตามคำสั่ง คสช.22/2560 ข้อ 22 ที่ระบุว่ากรณีมีหลักฐานอันเชื่อได้ว่าเรือประมงลำใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ให้พนักเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งพบการกระทำความผิดสั่งกักเรือไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด และแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบภายใน 24 ชั่วโมงนับจากออกคำสั่งกักเรือ และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน ขณะเดียวกันหากเรือลำดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ให้ศาลสั่งริบเรือทันที
สำหรับบทลงโทษผู้กระทำผิดตาม พ.ร.ก.ประมง 2558 ตามมาตรา 66 คือ ปรับสามแสนถึงสามล้านบาท หรือปรับมูลค่า 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับหรือนำขึ้นเรือประมงแล้วแต่ว่าจำนวนใดจะสูงกว่ากัน ขณะเดียวกัน เรือดังกล่าวต้องถูกพิจารณาถอนใบอนุญาตการทำประมงตามมาตรา 39 และไม่สามารถขอใบอนุญาตการทำประมงได้อีก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรวบรวมข้อมูล หลักฐานเพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมายโดยเร็วต่อไป
ทั้งนี้ จากการสอบถามเบื้องต้นว่า ออกเรือมาแล้วประมาณ 7 วัน มีลูกเรือ 15 คน และนำปลาขึ้นเรือมาประมาณ 10 กว่านาที โดยยืนยันว่า ไม่ตาย ซึ่งอ้างว่าไม่เห็นตอนอยู่ในน้ำ ว่าเป็นปลาอะไร หากรู้ก็จะไม่ยกขึ้นมา