Pattaya One News
Home » 7 วิธีป้องกัน “โรคซึมเศร้า” มหันตภัยร้ายสู่การฆ่าตัวตาย
ALL THAI NEWS ไลฟ์สไตล์

7 วิธีป้องกัน “โรคซึมเศร้า” มหันตภัยร้ายสู่การฆ่าตัวตาย

เคยสังเกตไหม? คนรอบข้างตัวคุณตอนนี้มีอย่างน้อย 1 คนที่กำลังป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” ในอดีตผู้คนอาจจะไม่ได้ใส่ใจโรคนี้มากเท่าไร เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว และมองว่าเป็นโรคของคนที่มีอาการทางจิต แต่จริงๆ แล้ว ภาวะซึมเศร้า มันใกล้ตัวยิ่งกว่าที่คิด โดยเฉพาะผู้คนในสังคมเมือง

“สาวออฟฟิศ” สมัยนี้ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เสี่ยงต่อการเกิด “โรคซึมเศร้า” ได้ง่ายกว่าในอดีตที่ผ่านมา เพราะความกดดันทางสังคมในหลายๆ อย่าง ทั้งการทำงานนอกบ้าน การเป็นผู้นำที่ดี การเป็นคนรักที่ดี หรือแม้แต่การเป็นแม่ที่ดี เหล่านี้ล้วนทำให้ “ผู้หญิง” มีความเครียดสะสมมากขึ้น จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

หากพบว่าในช่วง 1-2 สัปดาห์มานี้ ตัวคุณมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์และจิตใจ Thairath Women แนะนำว่าควรหันมาดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็น “โรคซึมเศร้า”

“โรคซึมเศร้า” ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

อ.พญ.กิติกานต์ ธนะอุดม ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายไว้ว่า โรคซึมเศร้า คือ โรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ คนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะมีอารณ์เศร้า หรือเบื่อหน่ายมากกว่าและนานกว่าปกติ โดยมักเป็นทุกวัน ระยะเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์

อารมณ์ดังกล่าวส่งผลถึงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การไม่สนใจทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยสนใจ, รับประทานอาหารน้อยลง, นอนไม่หลับ, รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย, ไม่มีสมาธิ, รู้สึกว่าตัวเองไม่ดี, ความมั่นใจน้อยลง, มองสิ่งรอบตัวในแง่ลบ และอาการรุนแรง คือ มีความคิดอยากตาย

หากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า จิตแพทย์ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัย โดยอาศัยการสัมภาษณ์ ซักประวัติ และประเมินอาการด้วยการตรวจสภาพจิต

 
สาเหตุ “โรคซึมเศร้า” เกิดจากอะไร?

สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจาก ด้านกายภาพ ด้านชีวภาพ เช่น สารเคมีในสมองไม่สมดุล การเจ็บป่วยด้วยโรคทางกายบางอย่าง การใช้สารเสพติดหรือยาบางประเภท ก็ทำให้มีอาการของโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

ส่วนด้านจิตใจ เช่น ทักษะการปรับตัวต่อปัญหา การจัดการความเครียด และบุคลิกภาพ นอกจากนี้ คือ ปัจจัยด้านสังคม เช่น มีการสูญเสีย คนใกล้ตัวมีความเครียด หรือมีความเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น

โรคซึมเศร้า ไม่ใช่โรคร้ายแรง ไม่ได้แปลว่าเป็นคนโรคจิตหรือมีอาการทางจิต เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยารักษาโรคซึมเศร้า หรือยาปรับสารเคมีในสมอง ส่วนด้านจิตใจ ควรมีการพูดคุยกับคนใกล้ตัว การมองหาความช่วยเหลือ หรือหนทางในการแก้ปัญหาใหม่ๆ ควรดึงครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

แบบสำรวจอาการ “โรคซึมเศร้า” เบื้องต้น

ถ้าใครไม่แน่ใจว่าตัวเองมีอาการของ “โรคซึมเศร้า” อยู่หรือไม่? ก็ลองเข้ามาทำแบบทดสอบเบื้องต้นกันดู ถ้าหากมีภาวะเสี่ยงก็จะได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ งั้นมาเช็กกันเลยว่าคุณมีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่? หรือกดเข้าไปทำแบบสอบถามจากทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ ที่นี่

  • รู้สึกเศร้าใจ หม่นหมอง หงุดหงิด กังวลใจ ไม่สบายใจ
  • ขาดความสนใจต่อสิ่งที่เคยชอบในอดีต
  • น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้น ความอยากอาหารเปลี่ยนไป
  • นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินกว่าปกติ
  • รู้สึกสิ้นหวัง รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
  • ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง
  • คิดถึงแต่ความตาย และอยากที่จะฆ่าตัวตาย

ถ้าหากคุณมีอาการเช่นนี้หลายข้อ และมีอาการเหล่านี้มานานมากกว่า 2 สัปดาห์ คุณอาจจะกำลังเป็น “โรคซึมเศร้า”

วิธีรับมือความเศร้า ป้องกัน “โรคซึมเศร้า”

1. หัดยอมรับตัวเอง 

ฝึกสำรวจตัวเอง เรียนรู้ รู้จักตัวเองมากขึ้น และฝึกยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็น ทั้งข้อดีและข้อเสีย เพื่อที่จะช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้ผิดหวังเสียใจได้ รู้จักขอบคุณตัวเองและแสดงความภาคภูมิใจในตัวเองอยู่เสมอ เมื่อได้ลงมือทำในสิ่งที่ดี ชีวิตมีขึ้นมีลง แค่รับมือกับมันได้ตัวคุณก็จะเบาสบายขึ้น

2. หัวเราะเยอะๆ

เมื่อรู้สึกทุกข์ ควรพาตัวเองอยู่กับสิ่งที่ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน เช่น ดูภาพยนตร์ตลก หรืออ่านเรื่องขำขัน หรือพูดคุยกับเพื่อนๆ ในเรื่องขบขันสนุกสนาน เพื่อช่วยคลายเครียด ช่วยคลายความทุกข์ในใจได้ดีทีเดียว

3. ระบายความรู้สึก 

ควรเรียนรู้ที่จะหาวิธีปลดปล่อยความรู้สึกเศร้า โกรธ ผิดหวัง หรือเสียใจออกมา เพราะอาการซึมเศร้ามักเกิดจากการเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกไว้ เราทำได้โดยการพูดคุยกับคนที่ไว้ใจได้ ตะโกน หรือร้องไห้ออกมาดังๆ หรือเขียนความรู้สึกลงในสมุดบันทึก

4. ออกกำลังกาย 

การออกกำลังกายช่วยต้าน “โรคซึมเศร้า” ได้ เนื่องจากการออกกำลังกายช่วยเพิ่มระดับสารเคมี “เซโรโทนิน” ในสมอง รวมถึงเพิ่มการหลั่งสารเอนดอร์ฟีนที่ช่วยทำให้ผ่อนคลายและอารมณ์ดีขึ้น แถมยังช่วยให้สุขภาพด้านอื่นๆ ดีขึ้นด้วย

5. ออกไปเที่ยวบ้าง 

รู้หรือไม่? การเดินทางท่องเที่ยวถือเป็น “ยาดี” สำหรับคนที่มีภาวะซึมเศร้า เพราะเป็นการหนีห่างจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยหน่าย เศร้า เบื่อ ฯลฯ เปลี่ยนไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่สดใส มีพลังมากขึ้น ได้พบเห็นสิ่งใหม่ๆ วัฒนธรรมใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด และคลายความเศร้าได้ดีเช่นกัน

6. ทำงานอดิเรก 

หากมีเรื่องเครียดๆ หรือเรื่องที่ทำให้เศร้าอยู่นาน ต้องพยายามสะบัดความรู้สึกเหล่านั้นออกไป แล้วไปหาอะไรทำที่สร้างสรรค์ ฝึกสมาธิ อย่างการทำงานอดิเรกก็ช่วยได้นะ เช่น ปลูกต้นไม้ วาดรูป ระบายสี ทำอาหาร เย็บปักถักร้อย เป็นต้น

7. Positive Thinking 

การมองโลกในแง่ดี ช่วยลดความวิตกกังวลได้จริง โดยอาจจะเริ่มจากฝึกคิดในมุมบวก ฝึกมองเรื่องต่างๆ รอบตัวในมุมบวก ฝึกมองผู้อื่นในแง่ดี และรู้จักชื่นชมคนอื่น หากทำได้จะเป็นการเติมเต็มความสุขให้กับชีวิตของคุณได้มากขึ้นแน่นอน และอย่าลืมว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก อย่าลืมครอบครัวและเพื่อนฝูง คุณสามารถเปิดใจและพูดคุยกับพวกเขาได้ตลอดเวลา

Please follow and like us:
Global news and Local news in Thailand and Pattaya with Business advertising
Translate »