Pattaya One News
Home » เปิดใจ “ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์” ส.ส.ม้งคนแรกของไทย
ALL THAI NEWS ข่าวในประเทศ

เปิดใจ “ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์” ส.ส.ม้งคนแรกของไทย

เป็นที่จับตานับตั้งแต่ย่างก้าวแรก ในการเดินทางมาประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเพื่อเลือกประธานสภาฯ ของ ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 24 จากพรรคอนาคตใหม่ ที่ห้องประชุมรัฐสภาชั่วคราว หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา

นั่นเพราะสปอตไลท์จับจ้องมายังเขาทันที ด้วยการแต่งกายชุดชนเผ่าชาวม้งอันเป็นถิ่นกำเนิดของเจ้าตัว และแน่นอนว่ามันตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการแต่งกายไม่เหมาะสมในการร่วมประชุมสภาฯ จนถึงขณะนี้ก็ยังแพร่กระจายในสังคมโซเชียล และดูเหมือนว่าจะลุกลามไปถึงความเป็นชาติพันธุ์ของเขาเลยด้วย

ThaiQuote มีโอกาสไปนั่งคุยกับ “ณัฐพล” หรือ “เก๊ง” ส.ส.ที่กำลังมีชื่อให้พูดถึงบนเวทีการเมืองชั่วขณะนี้ เพื่อให้เขาได้สะท้อนตัวตนที่แท้จริงออกมา และกับหน้าที่ส.ส.ครั้งแรกในชีวิตของตัวเอง กับคำว่าตัวแทนของประชาชน เขามุ่งหมายจะทำสิ่งใดเพื่อตอบแทนคะแนนเสียงที่ผลักดันให้เขาได้รับหน้าที่อันทรงเกียรตินี้

ณัฐพล ถือเป็น ส.ส.ที่มีเชื้อสายมาจากชนเผ่าม้งคนแรกของประเทศไทย และเจ้าตัวก็ยอมรับว่าหากจะให้บ่งบอกถึงสถานะของตัวเอง เขาก็คือคนชาติพันธุ์ที่เป็นคนไทย ณัฐพล เป็นหนุ่มที่เกิดและเติบโตจากจ.เพชรบูรณ์ ก่อนจะพาตัวเองก้าวเดินไปตามจังหวะของชีวิตที่มันจะพาไป เขาหาเลี้ยงชีพในหลากหลายรูปแบบเพื่อปากท้องของตัวเองและครอบครัว เพราะในถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเอง ณัฐพลบอกว่าไม่มีโอกาสได้ทำกินมากนัก กอปรกับการไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาอันเป็นปัจจัยหลักสำคัญของการดำรงชีพที่ต้องมีตราประทับเพื่อเดินเข้าบริษัทแลกเงินเดือน เขาไร้สิ้น

เมื่อเป็นเช่นนั้น หัวเรือชีวิตของณัฐพลจึงหันมาสู่เมืองหลวงที่กรุงเทพมหานคร เริ่มชีวิตด้วยหน้าที่บ๋อยของโรงแรมแห่งหนึ่ง ก่อนมีโอกาสไปทำงานบริการในเรือสำราญและกำไรชีวิตก็เริ่มพอกพูนขึ้นจากการได้เห็นโลกกว้างยังต่างแดน ก่อนชีวิตจะพลิกผันอีกครั้งเมื่อแม่บังเกิดเกล้าได้ป่วยไข้ เข็มทิศของเขาจึงพามาปักหมุดยังบ้านเกิดเพื่อดูแลแม่และยังชีพด้วยการทำไร่ และจุดนี้เองทำให้เขาเห็นปัญหาหลากหลายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับเรื่องปากท้อง ที่ดินทำกิน การไร้โอกาส ของเชื้อชาติชนเผ่าของตัวเองที่เขารักและหวงแหน จนนำไปสู่ความคิดที่อยากจะแก้ปัญหา และหนทางเดียวที่พอจะเห็นภาพของความสำเร็จ คือมันต้องแก้ด้วยการเมือง

“ผมก้าวเข้ามาในตำแหน่งนี้ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาจากการได้สัมผัสพี่น้องชาติพันธุ์ ต่างก็พากันสะท้อนปัญหาที่อยากให้ช่วยแก้ไข แต่บอกปัญหาทั้งหมดเวลาที่เรานั่งคุยกันคงไม่พอแน่ๆ แต่หลักของปัญหาและสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขนั้น คือปัญหาความไม่มั่นคงของคนชาติพันธุ์เกี่ยวกับที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ซึ่งมันก็เป็นปัญหาของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างกฎหมายเรื่องป่าบังคับให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถทำหรือพัฒนาอะไรได้ ยังไม่นับรวมกับเรื่องงบประมาณในการพัฒนา โอกาสเข้าถึงการศึกษา วิถีชีวิตคนเมืองที่คืบคลานมาหาคนชาติพันธุ์และพื้นที่ของพวกเขา” ณัฐพล เปิดฉากบทสนทนากับปัญหาก่อนเป็นอันดับแรก

จากภาพของคนเมือง เมื่อมองไปยังกลุ่มคนชาติพันธุ์ แน่นอนว่าสถานะจากความคิดที่วิ่งแล่นในสมองของสังคมเมือง ก็ย่อมหนีไม่พ้นว่าคือกลุ่มคนที่อยู่ในป่าในเขา ซึ่งกับบทบาทของส.ส.ของณัฐพล เขาก็ยินดีจะเอ่ยถึงประเด็นความเป็นอยู่จากประสบการณ์ที่เขามี โดยเฉพาะกับประเด็นที่อยู่ที่กินของคนชาติพันธุ์

ประเด็นนี้ณัฐพล สะท้อนว่า ปัญหาเรื่องที่ทำกินที่อยู่อาศัยของคนชาติพันธุ์ มันมาจากตัวบทกฎหมายของบ้านเราที่อาจจะมีปัญหาอยู่ อย่างกับเรื่องป่า รัฐจะบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะในแง่ความเป็นจริงคนชาติพันธุ์อยู่ในผืนป่ามาก่อนหลายชั่วอายุคน และยิ่งไปบังคับใช้กฎหมายกับคนชาติพันธุ์เกี่ยวกับป่าเขาถิ่นที่อยู่ จะยิ่งมีแต่ผลเสียตามมา เพราะมันจะกลายเป็นคนชาติพันธุ์จะไม่รู้สึกหวงแหนผืนป่าอีกแล้ว เพราะรัฐทำเหมือนกับว่าผืนป่าไม่ใช่ของเขา

“แต่ถ้าเรากลับแนวคิด หาทางที่จะให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนชาติพันธุ์เท่านั้น แต่กับทุกคนที่อยู่ร่วมกันกับป่า หาทางที่จะให้เขาอยู่ร่วมกันได้อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การไปรณรงค์ปลูกป่าที่จะเอาแค่ตัวเลขต้นไม้หรือการเพิ่มผืนป่าเท่านั้น เพราะพวกนี้เราก็มาเห็นกันแค่ตอนปลูก แต่ก็ไร้แผนดูแลในระยะยาว ปลูกเสร็จก็เสร็จกันไป แต่คนที่อยู่เขาจะดูแลได้ เราต้องหาทางตรงนี้ ไม่ใช่ว่าสั่งการออกมาจากในห้องแอร์ว่าต้องเพิ่มผืนป่าในท้องที่ต่างๆ ให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ แบบนี้ใครก็ทำได้ อย่างผมเสนอบ้างได้มั้ยว่า กรุงเทพฯ ป่าน้อย รื้อตึกทิ้งให้หมด แล้วมาปลูกต้นไม้ คนก็จะมาต่อต้านแน่ นั่นมันก็คือความรู้สึกเดียวกัน” ส.ส.ใหม่ของพรรคอนาคตใหม่ สะท้อนมุมมอง

แต่กับอีกสิ่งที่กระเทือนกับกลุ่มชาติพันธุ์มากที่สุด ซึ่งณัฐพล ให้ความสำคัญอยู่ไม่น้อยทีเดียวโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน คือโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของ เพราะเด็กชาติพันธุ์ก็คืออนาคตของชาติไทยด้วยเช่นกัน

ณัฐพล ยกตัวอย่างกรณี น้องพลอย หรือ “พลอย ยลฤดี” เด็กนักเรียนม.ปลายที่เกิดในไทย แต่ไม่ได้สัญชาติไทย ที่เรียนหนังสืออย่างเก่งกาจแต่ก็เกือบพลาดโอกาสในเวทีวิชาการระดับโลก และยังไม่นับรวมกับเด็กไร้สัญชาติอีกหลายคนที่สามารถสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ แต่ก็พลาดโอกาสได้เข้าเรียนเพราะไม่มีสัญชาติ มันจึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าไม่น้อยทีเดียว และมันควรจะถึงเวลาแล้วที่จะเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนมีการศึกษาที่เท่าเทียม เพราะท้ายสุดผลลัพธ์เด็กไม่ว่าจะเป็นใครก็จะเป็นผลผลิตที่ออกดอกออกผลในการพัฒนาประเทศ

“จากทุกปัญหาที่ผมได้เห็น ผมจึงอยากมาเป็นคนกลางในการนำปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด เอามาสะท้อนในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ผู้มีเกียรติทุกท่านได้รับรู้ และมาช่วยกันวางแนวทางเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ อย่างน้อยก็เพื่อให้พี่น้องชาติพันธุ์ คนที่อยู่ร่วมกันบนแผ่นดินเรา หายใจจากอากาศเดียวกัน ได้ปลดเปลื้องความทุกข์ยากของพวกเขาออกไปบ้าง และนี่คือสิ่งที่จะเป็นคำที่เรียกว่าหน้าที่ส.ส.ของผม” ณัฐพล กล่าวด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น แต่ก็แฝงไว้ด้วยรอยยิ้มที่บ่งบอกถึงความหวังสำหรับอนาคต

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ตอกย้ำเสมอสำหรับณัฐพล ซึ่งเขาเผยออกมาว่าต้องการเป็นคนกลางในการนำปัญหาออกไปสะท้อนเพื่อให้คนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหาผ่านกลไกทางการเมือง และสร้างภาพลักษณ์ของคนชาติพันธุ์อันแท้จริงให้ออกสู่สาธารณะ ไม่ใช่ภาพที่คนราบคนเมืองรับรู้ ว่าคนชาติพันธุ์ก็คือคนเข้าไปตัดไม้ คนไปทำลายป่า คนค้ายาเสพติด ภาพพวกนี้มันไม่จริงและจำเป็นจะต้องลบออกไป

“ทุกคนที่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ ทุกคนสำนึกในความเป็นไทย ทุกคนรักประเทศไทย ผูกพันกับประเทศไทยไม่ต่างจากคนไทยทุกคน เพียงแต่ว่าการสื่อสารความเข้าใจนั้นยังมีไม่พอ คนส่วนใหญ่อาจจะไม่เลยว่าผมเป็นใคร เสื้อผ้าแบบนี้คือชุดอะไร เป็นกลุ่มไหน ผมอยากเห็นประเทศไทยมีพหุวัฒนธรรมที่หลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกัน ด้วยความรัก ความเข้าใจ ให้เห็นกันว่าประเทศไทยเป็นหน้าเป็นตาที่ขึ้นชื่อว่ามีความหลากหลายในวัฒนธรรม ผมว่าเราน่าที่จะเอาบทเรียนที่ทะเลาะกันในประเทศมาตกผลึกกันอย่างจริงจัง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมันมาจากสาเหตุเดียวเท่านั้น คือเราไม่รู้จักกันดีพอ คนชาติพันธุ์เองก็เช่นกัน มันจึงเป็นหน้าที่ที่ผมที่จะมาทำให้ทุกคนเข้าใจ มองข้ามความขัดแย้งทุกๆเรื่องที่ผ่านมา แล้วมุ่งหน้าที่การสร้างการพัฒนาทั้งพี่น้องคนไทยพื้นราบและชาติพันธุ์ให้มีรักความเข้าใจกัน”

กับวลีที่ว่า “คนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้เลยว่าผมเป็นใคร” ที่ณัฐพลสื่อออกมา ก็ทำให้สะกิดความอยากรู้ขึ้นมาทันที เพราะเมื่อนั่งคุยกัน ณัฐพล หรือส.ส.เก๊ง ใส่ชุดชนเผ่าม้งของตัวเองอย่างไม่เคอะเขินต่อสายตาคนอื่นที่เมียงมอง หนำซ้ำยังแสดงออกด้วยความภาคภูมิใจ และมันก็เป็นชุดเดียวกันกับที่เขาใส่เพื่อเดินเข้าสู่สภาอันทรงเกียรติอย่างที่ได้เกริ่นเอาไว้ข้างบน

แต่ความภูมิใจของเขามันก็มาพร้อมกับความคิดของบางส่วน ทั้งจากสังคม เพื่อนส.ส.ด้วยกัน ว่ามันเหมาะสมดีหรือยังกับการแต่งกายเช่นนี้ในการทำงานเพื่อประชาชน

เมื่อเอ่ยคำถามนี้ ณัฐพลมีท่าทีที่ชัดเจนทีเดียวว่าอยากจะพูด และตอบด้วยรอยยิ้มออกมา พร้อมกับยืนยันว่า “มันไม่ได้ผิดอะไร”

“ผมก็ใส่ชุดนี้แหล่ะครับไปที่สภา เพราะนี่ก็คือชุดที่สุภาพที่สุดของผมแล้ว เอาจริงๆ คือ ผมไม่ได้ตำหนิหรืออยากจะไปต่อว่าใครที่ไม่เห็นด้วย เพียงแต่อยากให้ยอมรับในความหลากหลาย หากเราเปิดใจกว้างอีกสักหน่อย ยอมรับวัฒนธรรมที่หลากหลายในประเทศไทยของเราเอง เคารพและยอมรับในพหุวัฒนธรรม เคารพในชีวิตถิ่นฐานซึ่งกันและกัน หากทำกันได้จริงคำถามนี้ผมคงไม่เจอ” ณัฐพล ให้คำตอบถึงชุดชาติพันธุ์ที่สวมใส่อยู่

และกับชุดแต่งกายที่ณัฐพล เปิดหัวเอาไว้ว่าไม่ได้ผิดอะไร นั่นเพราะเขาได้ทำเรื่องขออนุญาตการแต่งกายไปยังสภาผู้แทนราษฎรไว้ก่อนแล้วและได้รับอนุญาตเรียบร้อย หาใช่การถือวิสาสะใส่เข้ามาในสภา ซึ่งณัฐพลย้ำว่า อยากให้ขอบคุณทางสภาด้วยซ้ำ ที่เข้าใจและยอมรับในความหลากหลายของชาติพันธุ์ และอนุญาตให้สวมใส่ชุดประจำถิ่นฐานได้

“อะไรคือสิ่งที่สุภาพ เราเอามาตรฐานว่าต้องเป็นสูทของฝรั่งมาใช้เพื่อความสุภาพหรือ และหากมีคนมาบอกว่าชุดสูทสากลไม่สุภาพบ้างล่ะ เราก็จะยอมไปแต่งชุดไทยนุ่งโจงกระเบนหรือเปล่า มันก็เป็นคำถามที่เราตอบกันไม่ได้หรอก ดังนั้น ผมก็อยากให้ทุกคนเปิดใจให้กว้างยอมรับในกันและกัน” ณัฐพล ทิ้งท้าย

ขอบคุณ Sanook

Please follow and like us:
Global news and Local news in Thailand and Pattaya with Business advertising
Translate »