หน้าฝนนี้นอกจากไข้หวัดที่พบบ่อยแล้ว อีกหนึ่งโรคที่ต้องระมัดระวังในเด็กเล็ก และเด็กวัยเรียน นั่นก็คือ โรค “มือเท้าปาก” ที่มีการแพร่ระบาดได้มาก ทารก-เด็กเล็กมีโอกาสป่วยง่าย และจะรุนแรงกว่าเด็กโต มักพบในสถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล
โรคมือเท้าปาก คืออะไร?
แพทย์หญิงนงนภัส เก้าเอี้ยน กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคมือเท้าปาก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัสในลำไส้คน พบมากในเด็กทารก เด็กเล็กมีโอกาสป่วยง่าย และจะรุนแรงกว่าเด็กโต โดยจะทำให้มีตุ่มผื่นหรือแผลที่ผิวหนังบริเวณมือ เท้า หรือมีแผลภายในปาก ทำให้เด็กๆ เจ็บปาก จนรับประทานไม่ได้ นอกจากนี้อาจจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไอ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย เป็นต้น มักพบในสถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล
การติดต่อของโรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปาก สามารถติดต่อกันได้ผ่านการไอหรือจาม น้ำมูก การสัมผัสตุ่มน้ำตามผิวหนัง น้ำลายหรืออุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยโรคมือเท้าปากมีระยะฟักตัว 3-6 วัน
อาการของโรคมือเท้าปาก
หลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย หลังจากมีไข้ 1-2 วัน จะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบที่ผิวหนังบริเวณมือ เท้า และมีแผลในปาก เช่น ที่กระพุ้งแก้ม เพดาน ลิ้น รวมถึงริมฝีปาก ส่วนใหญ่แล้วผู้ปกครองหรือคุณครูที่โรงเรียนสามารถสังเกตอาการของเด็กในเบื้องต้นได้ เช่น มีไข้ ตุ่มหรือผื่นตามมือ เท้า และแผลในปาก
ภาวะแทรกซ้อนอันตรายจากโรคมือเท้าปาก
นอกจากแผลที่เกิดขึ้นตามตัวและในบริเวณปาก จะสร้างความเจ็บปวด รำคาญ ให้เด็กทรมานแล้ว โรคมือเท้าปาก ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงเสียชีวิตได้
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กๆมาพบพบแพทย์เพื่อตรวจป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยแพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อดูผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนัง และแผลในปากเป็นหลัก ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจนำตัวอย่างของเหลวภายในลำคอ หรืออุจจาระส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของอาการป่วยต่อไป
การรักษาโรคมือเท้าปาก
โดยทั่วไปแล้ว โรคมือเท้าปากอาการจะดีขึ้นและหายป่วยเองภายในเวลา 7-10 วัน โดยเฉพาะปัจจุบันโรคมือเท้าปากยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดในทันที และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากได้ ฉะนั้นแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อจึงเป็นวิธีการหลีกเลี่ยงโรคได้
- รักษาความสะอาดของร่างกาย
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ
- ไม่ใช้สิ่งของหรือภาชนะร่วมกัน
- เช็ดทำความสะอาดของเล่นบ่อยๆ
- หลีกเลี่ยงการให้เด็กคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว
- หากเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปาก ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์
- เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก ต้องให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย
- หากมีเด็กในโรงเรียนป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ต้องแยกเด็กที่ป่วยออก ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน และพักอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
- ควรปิดโรงเรียนเพื่อทำความสะอาดหากพบเด็กติดเชื้อโรคมือเท้าปากพร้อมกันหลายคน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่ใกล้ตัวหนูน้อยอย่างมาก แต่หากพ่อแม่มีความใส่ใจ ดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิดและเฝ้าสังเกตอาการ หากพบว่ามีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมาข้างต้น แนะนำให้รีบพาไปพบแพทย์ เพื่อจะได้ให้การดูแลรักษาอย่างทันท่วงที
Cr.Sanook